Point of view
วัน-เวลาทำการ : เราจะติดต่อกลับในเวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 17.00
(หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์ และ วันหยุดตามปฏิทิน)
ติดต่อข่าวสารโปรโมชั่นทัวร์
qrcode
@povtravel

อาหารพื้นบ้าน ใน สิงคโปร์

พฤษภาคม 15, 2020 | by Point of view

อาหารพื้นบ้าน ใน สิงคโปร์ สวัสดีครับ เพื่อนๆ หมีพอยท์มีความรู้ดีๆนำเสนอ เกี่ยวกับอาหาร อาหารถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย กับมนุษย์ อย่างเรา แต่ละชาติก้มีจะอาหารจะประจำชาตินั้นๆ อย่างเช่น ประเทศไทยของเรา ก็มี ผัดไท ส้มตำ ผัดกระเพรา และมีอีกมากมาย วันนี้ หมีพอย์จะพาไปดูอาหารพื้นบ้างของประเทศใกล้ๆกับบ้านเรานั้นคือ ประเทศ สิงคโปร์ นั้นเอง ครับ บอกเลยว่า แต่ละเมนูน่าทานมากๆครับ พร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ

อาหารพื้นเมือง - 1

KAYA TOAST (ขนมปังปิ้งสังขยา)

เมนูอาหารพื้นบ้านสิงคโปร์ 1
KAYA TOAST

อาหารพื้นบ้าน ใน สิงคโปร์ เมนูแรก คือ เมนูนี้เป็นอาหารเช้ารสเลิศสำหรับผู้ที่ชอบทานของหวาน เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างขนมปังกรุบกรอบกับสังขยาหวานมัน

เมนูนี้คือขนมปังแผ่นที่ปิ้งบนเตาถ่าน ทาเนยและคายา (สังขยา) แบบเข้มข้น ซึ่งก็คือแยมแบบดั้งเดิมที่ทำจากมะพร้าวและไข่ เหมาะอย่างยิ่งที่จะทานคู่กับ โกปี๊ (กาแฟ) หรือ เต (ชา) ท้องถิ่น

บางคนรับประทานแซนด์วิชขนมปังปิ้งเป็นอาหารเช้า ในขณะที่บางคนอาจชอบดื่มชามากกว่า และส่วนใหญ่มักจะรับประทานคู่กับไข่ลวก 2 ฟองแบบไข่แดงไม่สุกและไข่ขาวยังเหลวอยู่ เมื่อเหยาะซอสถั่วเหลืองและพริกไทยลงไปก็ยิ่งเพิ่มความอร่อย

ไข่ลวกอร่อยๆ นี้จะช่วยเสริมความอร่อยเด็ดขนมปังปิ้งที่ปิ้งจนกรอบและทาสังขยาหวานมัน รวมทั้งเนยรสเข้มข้น

Fried Carrot Cake (ขนมผักกาด)

เมนูอาหารพื้นบ้านสิงคโปร์ 2

Fried Carrot Cake

ขนมผักกาด (Fried Carrot Cake) นั้นเป็นอาหารที่มีลักษณะตรงข้ามกับชื่อภาษาอังกฤษโดยสิ้นเชิง และไม่มีสีส้มแม้แต่น้อย แต่เป็นอาหารรสเด็ดที่เสิร์ฟด้วยโทนสีเดียว คือ สีดำ หรือสีขาว

อาหารคาวจานนี้ไม่มีส่วนผสมของแครอท อย่างน้อยก็ไม่มีอะไรที่เป็นสีส้มเลยสักนิด ในทางตรงกันข้าม ส่วนผสมหลักของขนมผักกาด (fried carrot cake) นี้คือ แป้งข้าวเจ้าและหัวไชเท้า ซึ่งบางคนเรียกว่าแครอทขาว ส่วนผสมทั้งหมดจะถูกนึ่ง จากนั้นจะตัดแบ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์และนำไปผัดกับกระเทียม ไข่ และหัวไชเท้าดองที่เรียกว่า “ไชโป้ว”

โดยทั่วไปจะเรียกว่า “ไชเทาก้วย” ตามภาษาจีนแต้จิ๋ว และสามารถหาแป้งทอดนุ่มๆ รสชาติกลมกล่อมจานนี้ได้ในศูนย์อาหาร (ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์) แทบทุกที่ โดยจะมีทั้งแบบดำ (ผัดกับซีอิ๊วดำ) หรือแบบขาว (แบบดั้งเดิม)

Chicken Rice (ข้าวมันไก่)

เมนูอาหารพื้นบ้านสิงคโปร์ 3
ข้าวมันไก่

อาหาร “ประจำชาติ” ของสิงคโปร์
อาหารเด็ดจานนี้สามารถพบได้ทั่วไปในย่านขายอาหารเกือบทุกที่ ตั้งแต่ศูนย์อาหาร (ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์) ทั่วไป ไปจนถึงภัตตาคารหรู

ถ้าเห็นไก่ต้มสุกเนื้อนุ่มน่าทานแขวนเรียงอย่างเป็นระเบียบที่หน้าร้านอาหาร นั่นคือ ร้านข้าวมันไก่ไหหลำ อาหารประจำชาติของสิงคโปร์นั่นเอง

คุณจะเห็นข้าวมั่นไก่ใน ในศูนย์อาหาร ทุกแห่งทั่วประเทศ แถมยังมีอยู่ในเมนูของภัตตาคารดังๆ หลายแห่ง และแม้กระทั่งในโรงแรมอีกด้วย ร้านอาหารแต่ละร้านสร้างสรรค์เมนูนี้แตกต่างกันออกไป คุณสามารถเลือกได้ว่าจะทานไก่ที่สับเป็นชิ้นพอดีคำ หรือไก่ทั้งตัวถ้าลูกค้ามากันเป็นกลุ่มใหญ่ โดยเสิร์ฟพร้อมข้าวมันหอม ๆ และน้ำจิ้มรสเผ็ดใส่กระเทียมและขิงสับสูตรเด็ดจานนี้ดัดแปลงมาตั้งแต่ ชาวจีน อพยพสมัยแรกๆ ที่เดินทางมาจากเกาะไหหลำ ชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน ชาวไหหลำเรียกอาหารจานนี้ว่า”ไก่เหวินชาง” โดยสับไก่ทั้งกระดูกใส่จานและเสิร์ฟพร้อมข้าวมัน ทานคู่กับน้ำจิ้มที่ใส่พริกขี้หนูเขียวสับวิธีการปรุงข้าวมันไก่นี้เป็นแบบจีนไหหลำแท้ๆ โดยชาวสิงคโปร์นำมาดัดแปลงเพียงเล็กน้อย โดยจะต้มไก่ในน้ำเดือด หรือแช่ไว้ในน้ำเดือดจนสุกทั่วทั้งตัว จากนั้นนำไก่ไปแช่ในน้ำเย็นเพื่อให้เนื้อยังนุ่มเหมือนเดิม บางบ้านอาจนำไก่มาย่างหรือต้มในซอสถั่วเหลืองเพื่อให้มีรสชาติแตกต่างออกไป

ในสิงคโปร์ เมนูจานนี้ได้รับอิทธิพลจากชาวจีนกวางตุ้ง โดยสังเกตได้จากน้ำจิ้มที่ทำจากซอสพริกสีส้มและการใช้เนื้อไก่กระทงที่มีความนุ่ม

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญของเมนูนี้ก็คือข้าวมันและน้ำจิ้ม ข้าวที่หุงด้วยน้ำสต็อกไก่ใส่ขิงและใบเตยนั้นต้องมีความมันในปริมาณที่พอเหมาะ และน้ำจิ้มต้องออกรสเผ็ดและเปรี้ยวอย่างพอดีลงตัว

Nasi Lemak ( นาซิเลอมัก)

อาหารพื้นเมือง - 5
นาซิเลอมัก

อาหารจานนี้ประกอบด้วยข้าวมันหอมๆ และน้ำพริกซัมบัลรสเผ็ดที่ทำให้เมนูนี้ลงตัวที่สุด

คำว่า นาซิเลอมัก เป็นคำในภาษามาเลย์ ซึ่งหมายถึง “ข้าวที่อุดมสมบูรณ์” คำว่า “อุดมสมบูรณ์” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความร่ำรวย แต่หมายถึงหัวกะทิที่ทำให้อาหารจานนี้หอมมันและอร่อยจนลืมอิ่ม

เมนูนี้คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างรสชาติต่างๆ ซึ่งได้แก่ ข้าวมันที่หุงด้วยกะทิและใส่ใบเตยหอม รับประทานคู่กับปลาทอดหรือปีกไก่ทอด, โอตาห์ (น้ำพริกปลาย่าง), ไอคาน บิลิส (ปลากะตักตากแห้งทอด) และถั่วทอด ไข่ต้ม แตงกวา และ “ซัมบัล” (น้ำพริกรสเผ็ด)

เนซิเลอมักเป็นอาหารจานใหญ่ที่เป็นที่ชื่นชอบของ ชาวมาเลย์ และชนชาติอื่นๆ โดยมีสูตรการปรุงนาซิเลอมักในแบบของตนเอง พวกเขาจะใช้ข้าวมันแบบเดียวกัน แต่บางสูตรก็หุงข้าวเป็นสีเขียวเพราะใส่ใบเตยลงไปด้วย แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือเครื่องเคียง

ตัวอย่างเช่น นาซิเลอมักของ ชาวจีน จะมีเครื่องเคียงทุกอย่าง ตั้งแต่ไก่ทอดและทอดมันปลา ไปจนถึงแกงผักรวมและเนื้อสัตว์

Klook.com

Chilli Crab (ปูผัดพริก)

อาหารพื้นเมือง - 6

แล้วคุณจะติดใจเมนูปูผัดพริกเพราะน้ำซอสราดที่ออกรสเผ็ดเปรี้ยวและหวานกำลังพอดี และซึมเข้าเนื้อปูที่สดหวาน

ปูเป็นพระเอกของเมนูนี้ แต่น้ำซอสเป็นตัวชูโรง ได้รสชาติปูที่สดหวาน น้ำซอสออกรสเผ็ดนิดหน่อยเจือหวาน และให้รสชาติถึงใจ มือของคุณจะเปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำซอสในขณะที่พยายามแกะปู และก็อดไม่ได้ที่จะต้องลิ้มลองน้ำซอสจากนิ้วมือด้วยเหมือนกัน

รับรองว่าจะต้องกลับไปทานอีกครั้งเพื่อลิ้มลองอาหารอื่น เช่นซาลาเปาทอด หรือซาลาเปานึ่งแบบไม่มีไส้ที่เรียกว่า หมั่นโถว จิ้มกินกับซอส ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างซอสมะเขือเทศกับซอสพริก เพิ่มความเข้มข้นด้วยไข่

ปูผัดพริกนับเป็นอาหารสิงคโปร์ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นอาหารจานปูรสเด็ดที่สุด เมนูนี้มีอยู่ในร้านอาหารซีฟู้ดเกือบทุกแห่ง โดยทั่วไปมักใช้ปูทะเลที่มีเนื้อเยอะและให้รสหวานอร่อย

เมนูที่สร้างสรรค์จากปู

อาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกจานนี้เริ่มต้นมาจากรถเข็นขายอาหารในปี ค.ศ. 1956 เจ้าของคือคู่สามีภรรยา ฝ่ายสามีบอกให้ภรรยาทดลองทำอาหารจานปูแบบอื่นที่ไม่ใช่ปูนึ่ง

มาดามแช ยัม เถียน (Cher Yam Tian) จึงทดลองครั้งแรกโดยการผัดปูใส่ซอสมะเขือเทศ แต่คิดว่าน่าจะทำให้รสชาติโดดเด่นขึ้นได้โดยเติมซอสพริกลงไป สองสามีภรรยาขายปูผัดพริกอยู่ริมแม่น้ำกัลลัง (Kallang River) และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนทำให้พวกเขาสามารถเปิดภัตตาคารชื่อ Palm Beach ได้

เชฟผู้มีชื่อเสียงที่ภายหลังมาเปิดภัตตาคาร Dragon Phoenix ได้เติมลูกเล่นลงไปในเมนูเล็กน้อย นั่นก็คือใช้ซัมบัล มะเขือเทศเข้มข้น และไข่มาทำเป็นน้ำราด แทนที่จะใช้ซอสมะเขือเทศกับซอสพริกจากขวด และสูตรนี้ได้กลายมาเป็นสูตรปูผัดพริกที่มีผู้ทำขายมากที่สุดในสิงคโปร์ 

Hokkien Prawn Mee Singapore (ผัดหมี่ฮกเกี้ยนกุ้ง)

อาหารพื้นเมือง - 7
hokkien prawn mee singapore

อาหารที่ดูง่าย ๆ อย่างผัดหมี่นี้ได้อานิสงส์
จากน้ำสต็อกกุ้งเข้มข้น ทำให้มีรสชาติอร่อยมากจนทุกคนติดใจ

ผัดหมี่จานนี้ หรือที่เรียกกันว่าผัดหมี่ฮกเกี้ยน ผัดโดยใช้น้ำสต็อกหอมเข้มข้นซึ่งต้มจากกระดูกหมูและหัวกุ้ง

ผัดหมี่รสเด็ดจานนี้ประกอบด้วยหมี่เหลืองและ “บีฮุ่น”(หมี่ขาวเส้นเล็ก) ใส่กุ้งตัวใหญ่ ปลาหมึก หมูสามชั้น ไข่ไก่ และกากหมู (ใส่หรือไม่ก็ได้) ทั้งหมดนี้ทำให้ผัดหมี่มีรสชาติอร่อยล้ำเกินบรรยาย โดยเสิร์ฟคู่กับพริกซัมบัลและบีบมะนาวเพื่อเพิ่มรสชาติ

ชื่อของอาหารจานนี้คือ ผัดหมี่ฮกเกี้ยนกุ้ง ทำให้เรารู้ได้ว่าจานนี้เป็นอาหารที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยชาวจีนฮกเกี้ยน แต่ต้นกำเนิดที่แท้จริงของอาหารจานนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก

ย้อนประวัติศาสตร์ฮกเกี้ยน

บางคนบอกว่า อาหารจานนี้เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่แรกในชื่อหมี่โรเชอร์ เพราะมีขายครั้งแรกที่ถนนโรเชอร์ กะลาสีเรือชาวจีนฮกเกี้ยนที่ทำงานในโรงงานบะหมี่ในช่วงหลังสงครามของสิงคโปร์จะมารวมตัวกันที่ถนนโรเชอร์ในตอนเย็นเพื่อผัดหมี่ที่เหลือจากโรงงานบนเตาถ่าน แต่บางคนก็ว่าแผงขายอาหารข้างโรงแรม 7 ชั้นที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ บนถนนโรเชอร์ต่างหาก ที่เป็นผู้คิดค้นอาหารจานนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

ในขณะที่บางคนเห็นว่า หมี่โรเชอร์เป็นอาหารที่ดัดแปลงโดยชาวเปอรานากัน โดยผัดหมี่กับน้ำเกรวี่และใส่ซัมบัล ซึ่งเป็นสูตรที่พบเห็นได้บ่อยในปัจจุบัน ทั้งนี้ ผัดหมี่ฮกเกี้ยนต้นตำรับควรเป็นหมี่ที่ผัดจนแห้ง และมีพริกแดงหั่นบางๆ เป็นเครื่องเคียง

ไม่ว่าข้อสันนิษฐานไหนจะเป็นจริงก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ รู้แต่เพียงว่าผัดหมี่ฮกเกี้ยนที่ขายกันทั่วไปตามศูนย์อาหาร (ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์) นั้นมีรสชาติอร่อยล้ำก็เพียงพอแล้ว

Laksa (หลักชา)

อาหารพื้นเมือง - 8
หลักชา

น้ำซุปลักซาคือความลงตัวระหว่างรสเผ็ดร้อนของพริกกับกะทิหอมมัน นับเป็นน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและให้รสชาติแสนอร่อย

มีลักซา (ก๋วยเตี๋ยวในแกงกะทิคล้ายข้าวซอย) หลากหลายรูปแบบในสิงคโปร์ อาทิเช่น ลักซาสูตรปีนังที่ใช้น้ำมะขามเปียก หรือลักซาของซาราวักที่ดูคล้ายแกงเผ็ด แต่ไม่มีสูตรไหนจะขึ้นชื่อไปกว่า กาตงลักซา ที่เป็นของสิงคโปร์เอง

กาตงลักซาได้รับอิทธิพลมาจาก ชาวเปอรานากัน ที่อาศัยอยู่ในย่านกาตง ลักซาสูตรนี้มีน้ำซุปรสชาติเผ็ดสีแดงเข้ม ให้รสอร่อยหอมมันด้วยน้ำกะทิและโรยกุ้งแห้ง รวมทั้งใส่ส่วนผสมอื่น ๆ เช่น หอยแครง กุ้งสด และทอดมันปลา

เอกลักษณ์ของเมนูนี้คือเส้นก๋วยเตี๋ยวที่เป็นเส้นหนาและไม่ยาวมาก สามารถใช้ช้อนตักกินได้อย่างสะดวก สำหรับบางร้าน จะเสิร์ฟลักซาและช้อนเท่านั้น ไม่มีตะเกียบให้

รสชาติของลักซานั้นเป็นที่ติดตลาด จึงทำให้กาตงลักซาสามารถเดินทางจากฝั่งทางตะวันออกไปยังทุกๆ ที่ในสิงคโปร์ มีร้านลักซาผุดขึ้นมากมายโดยเลียนแบบรสชาติของกาตงลักซา

*คำในภาษาอินโดนีเซีย/มาเลย์ที่แปลว่า “เกิดในท้องถิ่น” โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงชาวจีนเชื้อสายมลายู/อินโดนีเซีย

สงครามชิงพื้นที่

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนต่างสับสนเกี่ยวกับต้นกำเนิดที่แท้จริงของลักซา เพราะทุกร้านในย่านกาตงต่างก็อ้างว่าเป็นต้นตำรับ

แต่ยังมีลักซาอีกแบบหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันมาก นั่นคือ “จางกุท” (Janggut) ซึ่งตั้งชื่อตามพ่อค้าที่มีไฝใต้คางและมีขนงอกที่บริเวณไฝ เขามีชื่อเล่นว่า “จางกุท” ซึ่งแปลว่าหนวดในภาษามาเลย์ ปัจจุบันร้านนี้ (หรือเรียกกันว่าจางกุทลักซา) ซึ่งดำเนินกิจการโดยครอบครัวของจางกุทเปิดขายใน Queensway Shopping Centre

นอกจากนี้ ยังมีร้านขายลักซาที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักตั้งอยู่ในย่านกาตง โดยทุกร้านในย่านนี้ขายลักซาที่มีรสชาติคล้ายกัน ซึ่งกลายเป็นรสชาติที่มีเอกลักษณ์ของลักซาของสิงคโปร์ ความแตกต่างก็คือลักซาธรรมดาต้องใช้ตะเกียบในการคีบเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ยังไม่ได้ตัดให้สั้น

Fish Head Curry (แกงหัวปลา)

อาหารพื้นเมือง - แกงหัวปลา
แกงหัวปลา

เมนูรสเผ็ดที่น่าสนใจจานนี้คือแกงเผ็ดใส่ผักและหัวปลา

คนขวัญอ่อนอาจตกใจกับภาพแก้มปลาที่พองฟูและตาของปลาที่โปนออกมาในน้ำแกงสีแดง แต่สำหรับอีกหลายคน ภาพนี้ทำให้น้ำลายสอเลยทีเดียว ปกติแล้วเมนูนี้จะทานคู่กับข้าวสวยหอมกรุ่น

แกงหัวปลาเป็นอีกหนึ่งเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ของสิงคโปร์ และเป็นการหลอมรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมนูนี้ผสมผสานระหว่างแกงอินเดียทางใต้ที่เข้มข้นด้วยเครื่องเทศ กับหัวปลาที่ชาวจีนขอบรับประทาน

กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มในสิงคโปร์ต่างก็มีสูตรแกงหัวปลาเฉพาะในแบบของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแกงหัวปลาดั้งเดิมเล็กน้อย บ้างก็ผสมน้ำมะขามเปียกเพื่อให้ได้รสเปรี้ยว บ้างก็คนเติมกะทิเพื่อให้รสชาติเข้มข้นขึ้น

สิ่งเดียวที่คล้ายกันก็คือหัวปลากระพงแดงที่อุดมไปด้วยเนื้อรสหวาน และน้ำแกงรสเผ็ดที่ใส่ผักต่างๆ เช่น กระเจี๊ยบ และมะเขือม่วง

เริ่มต้นที่หัว

แกงหัวปลาถือกำเนิดขึ้นในครัวของร้านอาหาร อินเดีย เล็กๆ ร้านหนึ่งในทศวรรษ 1940 หัวปลาไม่ใช่ส่วนผสมแบบอินเดีย แต่เนื่องจาก M.J. Gomez เจ้าของร้านอาหารที่เดินทางมาจากรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย ต้องการจะเอาใจลูกค้าชาวจีน จึงใส่หัวปลาที่เป็นอาหารที่คนจีนโปรดปรานลงไปด้วย

ผลที่ได้ก็คือเมนูที่ฮ็อตฮิตอย่างยิ่ง ปัจจุบัน เมนูนี้มีอยู่ในรายการอาหารของร้านอาหารอินเดีย จีน  มาเลย์ และเปอรานากัน และมักจะเสิร์ฟในแบบที่แกงยังเดือดปุดๆ ในหม้อดินใบใหญ่ ผู้ที่ชอบทานปลาทราบดีว่า แก้มปลาคือส่วนที่อร่อยที่สุดและลูกตาปลาคือของแถมที่มีราคา

SOON KUEH (จุ๊ยก๊วย)

อาหารพื้นเมือง - จุ๊ยก๊วย
จุ๊ยก๊วย

จุ๊ยก๊วย (อังกฤษ: Chwee kueh “ขนมข้าวน้ำ”) เป็นขนมประเภทนึ่งแบบหนึ่งที่ได้อิทธิพลจากอาหารจีน พบในยะโฮร์และสิงคโปร์

จุ๊ยก๊วยทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับน้ำ แล้วใส่ลงในถ้วยขนาดเล็ก นึ่งให้สุกจะได้แป้งทรงรูปถ้วย ราดหน้าด้วยหัวไชโป๊ผัด กินกับซอสพริก เป็นอาหารเช้าที่เป็นที่นิยมแบบหนึ่งในสิงคโปร์ และยะโฮร์

Satay (สะเต๊ะ)

สะเต๊ะ
สะเต๊ะ

Satay (สะเต๊ะ) ซึ่งบริเวณด้านข้างของตลาดจะเป็นแหล่งรวมของร้านสะเต๊ะ มีชื่อว่า Satay Street ซึ่งจะมีร้านขายสะเต๊ะเรียงรายอยู่หลายร้าน แต่ละร้านก็จะมีกลวิธีเรียกลูกค้าที่ต่างกันไป แต่ที่เหมือนๆ กันก็คือเมนูที่มี และควันจากการย่างสะเต๊ะที่โชยมายั่วน้ำลายอยู่ตลอด

สะเต๊ะที่สิงคโปร์จะแตกต่างจากบ้านเรา เนื่องจากที่สิงคโปร์มีชาวมุสลิมอยู่เยอะ จึงไม่มีหมูสะเต๊ะแบบที่เราคุ้นเคยให้ลองชิม ที่นี่จะมี สะเต๊ะไก่ เนื้อแกะ เนื้อวัว กุ้ง กินคู่กับน้ำจิ้มสะเต๊ะเข้มข้นเครื่องเทศ แต่ไม่หวานมากนัก ส่วนตัวสะเต๊ะแต่ละอย่างก็จะหอมเครื่องเทศโดดเด่น มีการหมักเครื่องปรุงมาแล้วกลมกล่อมดี และกินคู่กับแตงกวาและหอมแดงซอย แต่จะไม่มีอาจาดเหมือนกับบ้านเรา

เป็นอาหารอย่างหนึ่งซึ่งทำจากเนื้อที่หั่นบางๆ หรือหั่นเป็นก้อน อาจจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ เนื้อปลา ฯลฯ เสียบด้วยไม้เสียบที่ทำจากไม้ไผ่ แล้วนำไปย่างบนเตาฟืนหรือเตาถ่าน เสิร์ฟพร้อมเครื่องปรุงรส ที่มีรสจัด (ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละตำรับ) สะเต๊ะมีจุดกำเนิดมาจากเกาะชวาหรือเกาะสุมาตราในประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ยังได้รับความนิยมในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศไทย หรือแม้แต่เนเธอร์แลนด์ซึ่งรับเอาวัฒนธรรมไปกับอาณานิคมของตน

Roti Prata (โรตีปราตา)

โรตี

โรตีปราตา (Roti prata) เป็นโรตีที่เป็นแผ่นแบน กินกับแกงเนื้อหรือแกงผัก เป็นที่นิยมในมาเลเซียและสิงคโปร์ บางครั้งใส่เนยแข็ง หัวหอม กล้วย ถั่วแดง ช็อกโกแลต เห็ด หรือไข่ อาหารลักษณะคล้ายกันนี้ในมาเลเซียเรียกโรตีจาไน
การปรุงโรตีปราตาจะทำแป้งเป็นแผ่นแบน ปรุงสุกบนกระทะเหล็กแบน เครื่องปรุงอื่น เช่นเนื้อสัตว์ หัวหอม และไข่ เนยแข็ง กล้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะเติมลงบนแป้งโดระหว่างการปรุง กินกับแกงปลาหรือแกงไก่ บางคนกินกับน้ำตาล
โรตี พราตา Roti Prata ประเทศสิงคโปร์ เป็นเมนูยอดฮิตของชาวอินเดีย ที่จะนำแป้งโรตีแผ่นกลมไปทอดจนบางกรอบหรืออาจจะเหนียวนุ่มก็ได้ กินคู่กับแกงหะหรี่ต่างๆ เช่น แกงกะหรี่เนื้อ แกงกะหรี่ไก่ และแกงกะหรี่หัวปลา อร่อยกลมกล่อมมากๆ

Rendang (เรินดัง)

เรินดัง

เรินดัง (อินโดนีเซีย: rendang) เป็นอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อที่มีรสเผ็ด จุดกำเนิดเป็นอาหารของชาวมีนังกาเบาในอินโดนีเซีย และเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ เป็นอาหารที่ชาวมีนังกาเบาใช้ในงานเฉลิมฉลองและต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ นอกจากนั้น ยังเป็นที่นิยมในมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ภาคใต้ของไทย และภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ลักษณะของอาหารคล้ายแกง แต่โดยวิธีการปรุงไม่จัดว่าเป็นแกง
Rendang Daging แปลว่า แกงเนื้อ Rendang Ayam แปลว่า แกงไก่ หลายคนที่เคยไปเที่ยวมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและบรูไน อาจจะเคยลองเมนูนี้ เพราะ

อาหารชนิดนี้เป็นที่นิยมกินกันทั่วไปทั่วประเทศ จะกินเป็นอาหารเช้า กลางวันหรือเย็นก็ได้ และมักจะนิยมกินกันในงานแต่งหรืองานบุญต่างๆ

โอตัก-โอตัก (ห่อหมกมลายู)

ห่อหมกมลายู

โอตัก-โอตัก (มลายูและอินโดนีเซีย: otak-otak; จีน: 鲤鱼包) หรือ ห่อหมกมลายู เป็นอาหารมาเลเซียที่มีลักษณะคล้ายห่อหมกของไทย ส่วนผสมทำจากปลาบด ซึ่งเนื้อปลาที่ใช้ทำได้มีหลายชนิด ผสมกับเครื่องแกง ได้แก่ พริก หอมแดง กระเทียม ข่า ตะไคร้ ขมิ้น ลูกผักชี กะปิ และแคนเดิลนัต จากนั้นนำไปห่อใบตองหรือใบมะพร้าวแล้วนำไปย่าง รายละเอียดของส่วนผสมจะต่างไปในแต่ละเมือง บางสูตรใส่ผงกะหรี่ด้วย โอตัก-โอตักในอินโดนีเซียสีจะออกขาว ส่วยในมาเลเซียและสิงคโปร์ สีจะเป็นสีส้มหรือแดง รับประทานเป็นอาหารว่าง หรือกินกับข้าวหรือขนมปังและราดซอสถั่วลิสง โอตัก-โอตักอีกแบบหนึ่งจะหั่นเนื้อปลาเป็นชิ้น ผสมเครื่องแกงแล้วนึ่ง เรียก โอตัก-โอตักโญญา

คำว่าโอตะก์ในภาษามลายูหมายถึงสมอง อาหารนี้เป็นที่นิยมมากในมาเลเซียตอนใต้ สิงคโปร์ และพื้นที่ใกล้เคียงในอินโดนีเซีย เช่น ปาเล็มบัง มากัซซาร์ ในสิงคโปร์เรียกว่า โอตะฮ์ โอตัก-โอตักโญญาจะพบมากในมาเลเซียทางเหนือเช่นที่รัฐปีนัง โอตัก-โอตักที่ตรังกานูเรียกว่าซาตา อาหารที่คล้ายกันในอินโดนีเซียเรียกว่า เปเป็ซ

Murgh+Makhani (ไก่เนย)

อาหารพื้นบ้าน ไก่เนย (Butter chicken) หรือมุร์ข มขานี เป็นอาหารทำจากไก่ของอินเดีย ปรุงในซอสรสเผ็ด
ประวัติ
อาหารนี้มีพื้นฐานมาจากอาหารปัญจาบ พัฒนาขึ้นโดยกุนดาน ลัล คุชราล ชาวปัญจาบที่นับถือศาสนาฮินดูและเป็นผู้ก่อตั้งภัตตาคาร โมตี มาฮาล เดอลุกซ์ในเดลฮี ประเทศอินเดีย เมื่อราวทศวรรษ 2493 เป็นการปรุงไก่ในน้ำเกรวี่ทำจากมะเขือเทศ ใส่เนยและครีมมาก
การปรุง
หมักไก่กับส่วนผสมของครีม โยเกิร์ต และเครื่องเทศหลายชั่วโมง เครื่องเทศที่ใช้ได้แก่ มะละล่า ขิง กระเทียม เลมอนหรือมะนาว พริกไทย ผักชี ขมิ้น และพริก นำไปอบในเตาทันดูร์ หรือย่าง หรือทอด กินกับน้ำแกงที่ใส่เนย มีส่วนประกอบของซอสที่ต่างกันหลายอย่าง บางสูตรใส่กานพลู ผักชี อบเชย พริกไทย มหาหิงคุ์ ยี่หร่า และลูกซัด บางสูตรใส่เม็ดมะม่วงหิมพานต์บดเพื่อทำให้ข้น โรยหน้าด้วยเนย ครีม พริกเขียว ผักชี และลูกซัด
Butter Chicken หรือที่เรียกภาษาอินเดียนว่า Murg Makhani มันคือแกงกะหรี่ไก่ ใส่เนย แบบอินเดียอะแหละที่เห็นแกงส้มๆกันบ่อยๆ อร่อยมากกกกยิ่งกินกับแป้งนานคือฟินอะจริงๆๆ สั่งเลยไม่ผิดหวังแน่นอนรสชาติเข้มข้นได้ใจ

Fried Kway Teow (ฉ่าก๋วยเตี๋ยว)

“ฉ่าก๋วยเตี๋ยว หรือก๋วยเตี๋ยวผัด เป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งของชาวมาเลเซียทุกเชื้อสาย ทั้งคำว่าก๋วยเตี๋ยวและคำว่า ฉ่า (Char)ล้วนมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน โดย “”ฉ่า”” หมายถึง “”ผัด”” เส้นก๋วยเตี๋ยวจะถูกนำไปผัดในกระทะด้วยความร้อนสูง ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวหรือซีอิ๊วดำ พร้อมทั้งใส่พริก กุ้ง เนื้อหอย ถั่วงอก ต้นหอม และไข่ ชาวจีนนิยมผัดก๋วยเตี๋ยวนี้ด้วยน้ำมันหมูและกากหมู โดยจะเสิร์ฟมาบนจานหรือใบตอง บางร้านอาจใส่กุนเชียงและลูกชิ้นปลาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความอร่อย

อาหารพื้นบ้าน เดิมก๋วยเตี๋ยวผัดถือเป็นอาหารของคนยากจน นิยมทานกันในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ชาวนา ชาวประมง และคนงมหอย แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นอาหารยอดนิยมจานหนึ่งของชาวมาเลเซีย โดยตัดทอนส่วนผสมบางอย่างออกเพื่อให้สอดคล้องกับหลัก “”ฮาลาล”” ของมุสลิม เมื่อความนิยมแพร่หลายเพิ่มขึ้น จึงเกิดมีก๋วยเตี๋ยวผัดสูตรเฉพาะของแต่ละร้านขึ้น แต่ไม่ว่าจะสูตรไหน ก็ยังคงส่วนผสมหลักสำคัญไว้เสมอ แม้จะมีผู้สันนิษฐานว่าก๋วยเตี๋ยวผัดถือกำเนิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และบรูไน) แต่เสียงส่วนมากยกให้ก๋วยเตี๋ยวผัดของปีนังเป็นสูตรที่อร่อยที่สุด ที่เมืองกัมปาร์ รัฐเปรัก จะใส่แต่เนื้อหอยอย่างเดียวโดยไม่ใส่กุ้ง ยกเว้นลูกค้าจะสั่งเป็นการเฉพาะ ในมาเลเซียตะวันออก จะเพิ่มเครื่องปรุงอย่างเช่น เนื้อวัว หัวหอม ซีอิ๊วหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีก๋วยเตี๋ยวผัด “”ทรงเครื่อง”” อีกด้วย โดยเฉพาะที่อิโปห์ ปินัง ไทปิง หรือแม้แต่ที่แคลงแวลเลย์ (Klang Valley) โดยเติมทั้งของทะเล เนื้อปู ไข่เป็ดเพื่อเพิ่มรสชาติ

ที่มา VisitSingapore
ขอบคุณรูป VisitSingapore


Booking.com
Klook.com